ทุนนิยมคือระบบเศรษฐกิจที่อนุญาตให้มีเอกชน และ บริษัทเป็นเจ้าของทุน ความสำคัญของทุนนิยมคือการตัดสินใจราคา และ การผลิตผ่านปัจเจกบุคคลอย่างอิสระเสรี ซึ่งล้วนแล้วเป็นการกระจายสินค้าและบริการที่ถูกกำหนดโดยการแข่งขัน และ ความเสรี
ตลาดเสรีทุนนิยมนั้นเป็นรูปแบบบริสุทธิ์ของทุนนิยมที่ไม่มีกีดกันความอิสระในเศรษฐกิจซึ่งรูปแบบนี้เกิดขึ้นในแบบเศรษฐกิจแบบตลาด แต่เดิมแล้วคำว่า “ทุนนิยม” (capitalism) นั้นเป็นระบบเศรษฐกิจที่ให้เสรีภาพในด้านต่าง ๆ ที่เกิดจาก ‘การกระทำของมนุษย์’ (human action) ซึ่งเป็นฐานในการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจของสังคมมนุษย์
ทุนนิยมมีการแบ่งความหมายที่ชวนให้สับสนอยู่ 2 แบบก็คือ 1.) รัฐทุนนิยม และ 2.) ตลาดเสรีทุนนิยม
- รัฐทุนนิยม (state capitalism) ในคำนี้ไม่ได้ถูกคิดค้นโดยนักเศรษฐศาสตร์สายคลาสสิค หรือผู้สนับสนุนตลาดเสรีทุนนิยมใด ๆ แต่เป็นนักปรัชญาสังคมนิยมอาทิ เช่น ฟรีดดิช เอนเกิลส์ (Friedrich Engels) ที่อธิบายรัฐทุนนิยมในฐานะรูปแบบทุนนิยมหนึ่งที่เกิดขึ้นในรัฐสมัยใหม่ หรือกล่าวก็คือทุนนิยมเป็นสภาวะที่เป็นอยู่ของรัฐ – ทุนนิยมในความหมายของเหล่านักสังคมนิยมจะหมายถึงการบังคับใช้แรงงานโดยรัฐ หรือบริษัทเพื่อเพิ่มผลกำไรในระยะยาว – ในความเป็นจริงนั้น ความเป็นทุนนิยมกับรัฐนั้นมีความหมายที่ตรงกันข้ามกัน และ แตกต่างจากมุมมองของเหล่านักสังคมนิยมที่มองว่าทุนนิยมเป็นสภาวะที่มาพร้อมรัฐ
- ตลาดเสรี (free market) ถ้าหากจะสรุปสั้น ๆ ก็คือ “การแลกเปลี่ยนทางสังคม” โดยการแลกเปลี่ยนจะเกิดขึ้นด้วยเพียงแค่ตามความสมัครใจระหว่างคนสองคน หรือระหว่างกลุ่มองค์กรต่าง ๆ ซึ่งการแลกในที่นี้อาจจะเป็นสินค้าหรือการบริการก็ได้ ซึ่งแตกต่างจากในยุคก่อนที่มีการกระทำยึดทรัพยากรผ่านการปล้นชิง, ทำลายทรัพย์สิน, ต่าง ๆ (เราจะเรียกการกระทำตามสถานการณ์เหล่านี้ก็คือ negative sum หรือการกระทำทางสังคมที่ส่งผลให้เกิดผลร้ายต่อทุกคนในระยะเวลาหนึ่ง)
ในแต่ละสถานการณ์สังคมมนุษย์ เมื่อมนุษย์มีทุน-ทรัพย์สินอะไรบางอย่างไว้ครอบครอง เมื่อพิจารณาตามสถานการณ์ว่าการกระทำของคนอื่นจะเข้ามาปล้นชิงก็ดี หรือ เกิดการสูญเสียทั้งสองฝ่ายซึ่งไม่ได้รับประโยชน์ใด ๆ ก็ดี หรือเป็นการสูญเสียประโยชน์เพียงฝ่ายเดียวก็ดี ทำให้มนุษย์ในระบบตลาดเสรีทุนนิยมนั้นสามารถจำแนกได้ว่าการกระทำใดหมายถึงอะไร และ มันจะเกิดขึ้นจากอะไร ก่อเกิดทำให้มีแรงจูงใจใดต่อการกระทำนั้น ๆ สามารถแยกประเภทตามทฤษฎีเกมได้ดังนี้:
- “เมื่อมีบุคคลสองคนทำการแลกเปลี่ยนสินค้าหรือการบริการโดยทั้งคู่มีการตกลงเห็นพ้องกันที่จะแลกเปลี่ยน” จะทำให้ ผลรวมเป็นบวก (positive sum)
- “เมื่อมีบุคคลที่มีสถานะ และ แรงจูงใจในการแลกเปลี่ยนสินค้าต่างกัน โดยมีฝ่ายที่เห็นด้วย และ ไม่เห็นด้วยกับข้อตกลงในเวลาเดียวกัน บุคคลที่เห็นด้วยกับข้อตกลงจะใช้กำลังในการขัดขืน หรือใช้กำลังเพื่อให้ได้สิ่งที่ฝ่ายตรงข้ามมีครอบครอง หรือทำบางสิ่งที่เป็นข้อได้เปรียบมากกว่าอีกฝ่าย (ซึ่งอาจจะเป็นเงิน, สินค้าและบริการ, ทรัพย์สิน ฯลฯ)” จะทำให้ ผลรวมเป็นลบ (negative sum)
- “เมื่อมีบุคคลกระทำบางอย่างเหมือนกัน และ มีบุคคลเดียวที่ได้รับผลประโยชน์ แต่ทำให้อีกฝ่ายไม่ได้รับประโยชน์” จะทำให้ ผลรวมเป็นศูนย์ (zero sum)
ในความเป็นจริง ภายใต้ระบบตลาดเสรีทุนนิยมนั้น มันเป็นไปไม่ได้ที่จะสร้างผลรวมเป็นศูนย์ให้เกิดขึ้นได้ เพราะว่าผลประโยชน์จากการแข่งขัน และ การมีอยู่ของตลาดในแบบต่าง ๆ บนโลกใบนี้ เป็นผลพวงจากธรรมชาติของมนุษย์ ที่ว่ามนุษย์นั้นต่างก็หาผลประโยชน์เข้าตัวเองทั้งสิ้น มนุษย์ใช้พลังงานของตัวเองทั้งด้านพละกำลัง และ มันสมองในการไขว่คว้าทรัพยากรมาครอบครอง เพื่อใช้เป็นทุนในการดำรงชีวิตอยู่ต่อไปเรื่อย ๆ และ ในขณะเดียวกันใช้ทุนที่ว่าเพื่อการแลกเปลี่ยนสินค้ากับมนุษย์อื่น ผ่านความพึงพอใจ และ การสมัครใจทั้งสิ้น – ฉะนั้นในระบบทุนนิยมที่สัจธรรมยังคงตั้งอยู่บนระบบ “กำไรและการสูญเสียกำไร” ซึ่งจะดำเนินแบบนี้ขึ้นไปตลอดกาล จนกระทั่งกาลเวลาสิ้นสุดลง
“แนวคิดของตลาดเสรีทุนนิยม ตรงกันข้ามกับ แนวคิดการแทรกแซงโดยรัฐ และ การควบคุมโดยรัฐ”
ตลาดเสรีทุนนิยมนั้นเป็นกฏของธรรมชาติที่ไม่สามารถถูกควบคุม หรือถูกก้าวก่ายจากกลไกปาระดิษฐ์อื่น ๆ ที่มีฐานมาจากการบังคับให้บุคคลในสังคมหนึ่งทำตาม โดยเฉพาะการผูกขาดทรัพยากร และ ทุนโดยรัฐ ที่ก่อเกิดความสูญเสียในทางด้านมูลค่าของเศรษฐกิจ และ สังคม – การผูกขาดโดยรัฐอาจจะเกิดขึ้นเพราะความคิดฟุ้งซ่านของนักการเมืองที่มีความต้องการที่จะช่วยเหลือประชากรในประเทศให้รอดพ้นจากความยากลำบาก นักการเมืองเชื่อว่าตลาดนั้นมีความล้มเหลวในตัวมันเอง หรือกล่าวก็คือความเป็นธรรมชาติของตลาดนั้นต้องถูกแก้สังคมถึงจะ “ดี” ขึ้น – ตามหลักของตลาดเสรีนั้น การแก้ไขจัดการ, การหาทางแก้ไขสถานการณ์, การจัดสรรทรัพยากร, และอื่น ๆ นั้นเกิดขึ้นได้จากการที่มนุษย์ต่างมีเสรีภาพเพื่อหาประโชน์เข้าตัวเอง จึงทำให้ตลาดสามารถแก้ปัญหาได้เอง กล่าวก็คือปัญหาต่าง ๆ ถูกจัดการผ่านการกระทำของมนุษย์ที่มีผลกระทบเชิงบวกทางเศรษฐกิจเสมอ – อดัม สมิธ (Adam Smith) ได้เรียกสิ่งเหล่านี้ว่ามือที่มองไม่เห็น (invisible hand)
อย่างไรก็ตามแนวคิดตลาดเสรีทุนนิยมนั้นได้พัฒนาไปไกลกว่าแนวคิดของบิดาเศรษฐศาสตร์สมัยใหม่อย่าง อดัม สมิธ (Adam Smith) แล้ว ตลาดเสรีทุนนิยมก้าวหน้ามากเมื่อหลังจากมีการปฎิวัติอุสาหกรรมที่ทำให้เด็กสามารถทำงานได้, ทำให้ปัญหาการขูดรีดแรงงานของยุคสมัยพาณิชยนิยม (mercantilism) และ กฎหมายแรงงานถูกผ่อนคลายลงเนื่องจากมีเครื่องจักรเข้ามาแทนที่แรงงาน ซึ่งเป็นเรื่องที่น่ายินดีอย่างมากสำหรับการพัฒนาเทคโนโลยีที่จะไม่ใช้มนุษย์เป็นแรงงานอีกต่อไป ในขณะเดียวกันก็จะมีกลุ่มคนที่ไม่เห็นด้วยกับการปฎิวัติอุสาหกรรม และ ต้องการที่จะให้คนมีงานทำ คนเหล่านี้จึงจะหันไปหารัฐบาลเพื่อให้ความช่วยเหลือกับพวกเขา หรื ตั้งกลุ่มขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม และ เศรษฐกิจ ยกตัวอย่างเช่น กลุ่มสหกรณนิยม (syndicalism), กลุ่มสหภาพแรงงาน และ อื่น ๆ เป็นต้น – กลุ่มคนเหล่านี้มักจะมองกลับไปคนล่ะด้านกับความเจริญที่ตลาดเสรีทุนนิยมนำพามาให้ พวกเขามักจะทำสิ่งที่ขัดต่อการพัฒนาทางเศรษฐกิจ, เทคโนโลยี และ สังคมโดยการพึ่งพาตัวเอง หรือสร้างกลุ่มของตัวเอง และ ทำงานโดยใช้แรงงานคนต่อไป (ซึ่งเกิดขึ้นหลังจาก โรเบิร์ต โอเว่น (Robert Owen 1771-1858) คัดค้านการปฎิวัติอุสาหกรรม และ สร้างโมเดลสังคมนิยมอย่าง “รูปแบบสังคมยูโทเปีย” (Owen’s utopian society)
ดังนั้นถ้ามองในมุมมองธรรมชาติ ทุกสรรพสิ่งย่อมเกิดขึ้น และ ดับลงตามธรรมชาติ การมองว่าทุนนิยมสร้างความเหลื่อมล้ำ และ ความไม่เท่าเทียมทางสังคมจึงไม่ใช่ปัญหาใหม่ที่เพิ่งเกิดขึ้น แต่ถ้าหากเราพิจารณาตามประวัติศาสตร์ของมนุษย์แล้ว ในเหตุการณ์สำคัญไม่ว่าจะเป็นสงคราม, ความเป็นความตาย, การมีอำนาจที่ยิ่งใหญ่กว่า และ การมีทุนที่มากกว่าคนอื่น ล้วนแล้วย่อมเป็นธรรมชาติ กล่าวคือลักษณะเหล่านี้เกิดขึ้นในธรรมชาติที่ไม่มีอะไรเท่าเทียม โดยที่มีความแตกต่างเป็นศูนย์กลางของความไม่เท่าเทียมที่ว่า สภาวะธรรมชาติที่แก้ไขไม่ได้ แต่สามารถก้าวไปข้างหน้าเพื่ออนาคตที่มีความรุ่งเรือง และ เจริญได้ ถ้ามนุษย์สร้างความมั่นคั่งต่อไปเรื่อย ๆ
แต่มีคนบางกลุ่มที่นิยมแนวคิดสังคมนิยมในยุคศตวรรษที่ 21 หรือในหนังสือ ทุนนิยมในศตวรรษที่ 21 (Capital in the Twenty-First Century) ของ โธมัส พิเก็ตตี้ (Thomas Piketty) หรือ นักสังคมนิยม และ นักปรัชญาหลังสมัยใหม่อื่น ๆ ในปัจจุบัน ล้วนเสนอแนวคิดบางอย่างที่เน้น “การต่อสู้, การรื้อถอน, และ การแพร่แนวคิด” – แนวคิดเหล่านี้ย่อมไร้ประโยชน์และไม่มีทางจะเอาชนะความไม่เท่าเทียมได้ เพราะเราพยายามแก้ไขธรรมชาติมาแล้วในอดีต อย่างอดีตสหภาพโซเวียต และ สาธารณรัฐประชาชนจีนก่อนสมัย เติ้ง เสี่ยวผิง ที่เป็นตัวอย่างใหญ่พอที่จะสื่อได้ว่าเศรษฐกิจแบบวางแผนที่ปราศจากเอกชน หรือเอกชนที่ถูกควบคุมโดยรัฐอีกทีนั้นไม่สร้างผลดี และ เป็นตัวทำให้หยุดชะงักความเจริญ, เกิดความขาดแคลน, และ ความอดอยาก – ตลาดเสรีทุนนิยมตรงกันข้ามกับสิ่งที่ประเทศเหล่านี้ทำ เพราะตลาดเสรีทุนนิยมมีการคำนวนทางเศรษฐศาสตร์(economic calculation) ผ่านการกระทำ และ ความต้องการของมนุษย์ ในขณะที่รัฐสังคมนิยมไม่มี เพราะรัฐเป็นผู้จัดการ และ วางแผนการกระทำทางเศรษฐกิจผ่านการบังคับ ในนามของความเท่าเทียมที่ขัดกับรากฐานของธรรมชาติของสังคมมนุษย์ (ในบ้างที่มีการเปิดตลาดแต่ส่วนใหญ่ยังถูกควบคุมโดยรัฐอยู่ อย่างเช่น สาธาณรัฐประชาชนจีนในปัจจุบัน)