ว่าด้วยระบบเศรษฐกิจของฟาสซิสต์ที่แตกต่างจากตลาดเสรีทุนนิยม
ในขณะที่เหล่าสังคมนิยมในยุคปัจจุบันตราหน้าทุกคนที่ไม่เห็นด้วย หรือนายทุนที่ไม่ยอมหลีกพ้นให้กับการเป็นขึ้นมาของกระแสสังคมนิยม (?) ว่าเป็น “ฟาสซิสต์” รัฐคอมมิวนิสต์ในอดีตอย่างสาธารณรัฐประชาชนจีน และ สหภาพโซเวียตก็เคยใช้คำว่า ฟาสซิสต์ ในการตราหน้ากันเองเพื่อไปผสมโรงกับการแตกหักของอุดมการณ์คอมมิวนิสต์ของทั้งสองประเทศในช่วงยุค 50-60s (Sino-Soviet split) ทั้งสองต่างก็ชี้ไปที่อีกฝ่ายว่าเป็น “สายแก้” (revisionists) หรือที่หนักไปกว่านั้นก็คือใช้คำฟาสซิสต์อย่างว่า ชี้หน้าอีกฝ่ายที่แตกหักทางอุดมการณ์เพื่อสนองศีลธรรมของอุดมการณ์คอมมิวนิสต์ของฝ่ายตัวเอง — ความสัมพันธ์ของทั้งสองนั้นจบลงอย่างสิ้นเชิงเมื่อสหภาพโซเวียตให้การสนับสนุน และ ขายอาวุธให้กับอินเดียในสงครามกับปากีสถาน (แน่นอน — ความมั่นคงทางใต้ของจีนที่เพิ่งยึดมาจากทิเบตก็ย่อมที่จะสั่นคลอนเป็นธรรมดา) แต่ประเด็นมันอยู่ที่ว่าอะไรคือนิยามจริง ๆ ของ ฟาสซิสต์ที่ปราศจากการบิดเบือนนิยามโดยฝ่ายคอมมิวนิสต์ แล้วยิ่งไปกว่านั้นการแบ่งเส้นระหว่างเศรษฐกิจคอมมิวนิสต์กับฟาสซิสต์มันใช้อะไรเป็นตัววัด
ในความเป็นจริงนั้นฟาสซิสต์คือรูปแบบอุดมการณ์ทางการเมืองอย่างหนึ่งที่เน้นความสำคัญในสังคมเพียงแค่สองอย่างคือ:
1.) อำนาจนิยม และ;
2.) ลัทธิคลั่งชาติ
เราเห็นได้ชัดว่าลัทธิฟาสซิสต์ไม่ได้มีอุดมการณ์ทางสังคมกับเศรษฐกิจที่ชัดเจน จึงสรุปได้ว่าลัทธิฟาสซิสต์นั้นสามารถใช้อุดมการณ์ทางสังคมกับเศรษฐกิจจากอุดมการณ์อื่น ๆ ได้ แต่ที่ผ่านมานั้นรัฐฟาสซิสต์ต่าง ๆ ไม่ได้ใช้อุดมการณ์ทางสังคมกับเศรษฐกิจอย่างใดอย่างหนึ่ง แต่ใช้อุดมการณ์ของบางฝ่ายมารวมกัน เพื่อให้มีความสำเร็จต่อการสร้างชาติที่ยึดถือ (1.) อำนาจนิยม และ (2.) ความคลั่งชาติเป็นหลัก แต่ระบบเศรษฐกิจฟาสซิสต์ที่เฉพาะเจาะจงได้อธิบายไว้ข้างล่างว่ามีความคล้ายคลึงกับสังคมนิยม แต่ไม่ได้มีความเป็นสากลนิยมอย่างที่เหล่าสมาชิกมาร์กซิสเข้าใจ จึงพูดได้ว่าระบบที่จะกล่าวถึงนั้นเป็นระบบที่ใช้ได้จริงในระบบฟาสซิสต์ และ เป็นระบบที่สื่อให้เห็นถึงการทำงานของเศรษฐกิจฟาสซิสต์ได้อย่างแท้จริง จึงสรุปได้ว่าระบบดังกล่าวเป็นระบบที่คู่อยู่กับลัทธิฟาสซิสต์
ลัทธิฟาสซิสต์ยุคร่วมสมัยในช่วงแรกนั้นเกิดขึ้นมาในช่วงความวุ่นวายทางการเมืองหลังจากการปฏิวัติฝรั่งเศส 1789 และ การปฏิวัติยุโรป 1848 รวมถึงความไม่คล่องตัวของสังคม และ เศรษฐกิจที่เกิดจากการปฏิวัติล้มล้างระบอบกษัตริย์เก่า มันเป็นช่วงปี 1880s ที่ประชาชนฝรั่งเศส (ยกเว้นในเมืองปารีส) ต่างก็เข้าใจกันว่าสงครามปรัสเซียกับฝรั่งเศสกับผลร้ายต่อประเทศทั้งหมดที่เกิดขึ้นที่ทำให้ฝรั่งเศสอ่อนแอ และ ย่อยยับนั้นเป็นเพราะการเติบโตของลัทธิสาธารณรัฐนิยม รัฐบาลสาธารณรัฐที่ 3 ของฝรั่งเศสจึงไม่ได้มีความคาดหวังต่อหัวก้าวหน้าของพวกจาคอบบินที่เน้นเรื่องสากลนิยมอีกต่อไป แต่เน้นสาธารณรัฐนิยมสายรักชาติ และ การรักษาวัฒนธรรม — ในภาษาฝรั่งเศสจึงเกิดวลี Fin de siècle ขึ้นมา ซึ่งแปลว่า “จุดจบของศตวรรษ” ซึ่งเป็นวลีที่มีอิทธิพลต่อลัทธิคลั่งชาติ และ มีผลเป็นฟาสซิสต์ในภายหลัง — โดยกลุ่มแรงงานในฝรั่งเศสก็เกิดความรังเกียจต่อสากลนิยมเช่นกัน มันจึงมีแขนงหนึ่งของสังคมนิยมขึ้นมาที่ต่างจากของมาร์กซ์ ตั้งแต่นั้น ลัทธิฟาสซิสต์ในฝรั่งเศสจึงเติบโตขึ้นอย่างมาก ในขณะเดียวกัน ประเทศอื่น ๆ ก็เกิดลัทธิฟาสซิสต์ขึ้นเช่นกัน แต่มันคู่ขนานกับลัทธิฟาสซิสต์ในฝรั่งเศส ยกตัวอย่างเช่น อิตาลีสมัยรวมชาติสำเร็จก็มีพวกสหการนิยม (syndicalist) อยู่จำนวนหนึ่ง พวกสหการนิยมนั้นเกิดมาจากพวกแรงงานสมัยสังคมนิยมร่วมสมัยยุคแรก ๆ (ต้องเข้าใจว่าสังคมนิยมไม่ได้มีแค่ลัทธิมาร์กซ์/ส่วนอีกอย่างคือสหการนิยมก็เกิดมาจากแรงงานในฝรั่งเศสที่กล่าวถึงนั่นเอง) โดยกลุ่มนี้มีความคิดที่ว่ารัฐนิยม (statism) มีความจำเป็นเพื่อบังคับให้นายทุนทำงานร่วมผ่านสหภาพแรงงานของรัฐ แตกต่างจากมาร์กซ์ที่คิดว่าการปฏิวัติ และ เผด็จการชนชั้นกรรมาชีพคือทางออก พูดง่าย ๆ ก็คือระบบเศรษฐกิจของฟาสซิสต์เป็นแขนงหนึ่งของสังคมนิยม ที่ต่างกันคือไม่ใช่สายจากมาร์กซ์เท่านั้นเอง (อีกข้อที่อยากเพิ่มคือลัทธิคลั่งชาติไม่ได้คู่กับฝ่ายขวาเสมอไป)
เพื่อย้ำข้อข้างต้น ตามประวัติศาสตร์แล้วฟาสซิสต์ไม่ได้มีระบบตลาดเสรีทุนนิยม หรือระบบการปล่อยให้ทำไป (laissez-faire) แต่มีระบบที่คล้ายคลึงกับสังคมนิยมแต่ปราศจากความเป็นสากลนิยม (internationalism) และ ทฤษฏีของมาร์กซ์ โดยระบบนี้เป็นระบบที่ไม่ได้เน้นเรื่องการปฏิวัติทางสังคม และ เศรษฐกิจโดยตรง แต่ใช้ความเป็นอำนาจนิยมของรัฐฟาสซิสต์ในการบังคับให้ชนชั้นแรงงานกับชนชั้นนายทุนร่วมมือกันทำงาน หรือที่กล่าวไปว่าคือสหการนิยมนั่นเอง ยกตัวอย่างที่เคยเกิดขึ้นจริงในประวัติศาสตร์:
1.) ในอาณาจักรอิตาลีช่วงฟาสซิสต์ที่ดำเนินนโยบายการเปิดตลาดแบบปลอมเปลือกในช่วงแรกที่พรรคชาตินิยมฟาสซิสต์ (PNF) ให้ผลประโยชน์ต่อพรรคพรรคชาตินิยมฟาสซิสต์ โดยรัฐเป็นผู้ถือปัจจัยการผลิตในความเป็นจริง เพราะแบบนี้ทรัพย์สินส่วนบุคคลนั้นจึงอยู่ในมือของรัฐเพื่อสนองความต้องการของรัฐ และ “สังคม” ผ่านการทำงาน (บังคับ) ระหว่างนายทุนกับแรงงาน ยิ่งไปกว่านั้นคือความเกลียดชังที่มุสโสลินีกับสมาชิกพรรคมีต่อบุคคลนิยม (individualism) ที่เป็นฐานหลักของตลาดเสรีทุนนิยม
2.) ในนาซีเยอรมันก็คล้าย ๆ กับของอิตาลี แต่ต่างตรงที่พรรคนาซี (NSDAP) มีกฏหมายบังคับไม่ให้เผ่าพันธ์ยิวมีส่วนร่วมในระบบเศรษฐกิจ ที่เห็นได้ชัดคือการทำลายทรัพย์สินส่วนบุคคลของยิว ตรงนี้เราจะเห็นได้ชัดถึงความชัดเจนของ “สังคมนิยมที่ไร้สากลนิยม (เพื่อเผ่าพันธ์อารยัน)” หรือที่คล้ายคลึงกับสังคมนิยมแห่งชาติในโรมาเนียในช่วงสงครามเย็นนั่นเอง โดยที่ยิ่งไปกว่านั้นคือการบังคับแรงงาน และ นายทุนให้อยู่ภายใต้พรรคโดยไม่มีผลตอบแทน เพราะกำไรที่ได้มาเข้าไปอยู่ในมือของพรรค และ แจกจ่ายผ่านรัฐสวัสดิการให้กับประชาชนเยอรมันเท่านั้น
3.) ในฟาสซิสต์สเปน ความเป็นสหการนิยมยิ่งรุนแรงไปกว่าสองประเทศข้างต้น โดยข้าราชการในประเทศมีหน้าที่ใช้นโยบายสหการชาตินิยม (national syndicalism) โดยศูนย์กลางของเศรษฐกิจอยู่ในมือของพรรคฟาแลงก์ (FET y de las JONS) แรงงาน และ นายทุนทั้งหมดร่วมมือกันเหมือนประเทศข้างต้นแต่ทำทุกอย่างเพื่อศาสนาคาทอลิค (Integralism/ฐานหลักของฟาสซิสต์สเปน) และ ชาติที่ขึ้นตรงกับพรรคอย่างเดียวเท่านั้น โดยเศรษฐกิจสเปนก็เพิ่มเริ่มมาโตตอนที่แฟรงโกเปิดตลาดในช่วง 1950s เท่านั้น (ต้องเข้าใจว่าระบบตลาดที่ถูกควบคุมเป็นนโยบายเศรษฐกิจแบบฟาสซิสต์แขนงหนึ่งของสังคมนิยม ที่ปฏิเสธตลาดเสรีทุนนิยมที่มีฐานมาจากเสรีนิยม)
เราจะเห็นได้ชัดว่าระบบเศรษฐกิจของฟาสซิสต์นั้นไม่ได้มีความคล้ายคลึงกับตลาดเสรีทุนนิยมเลยแม้แต่น้อย แต่เป็นแขนงหนึ่งของสังคมนิยมที่ปราศจากความคิดของมาร์กซ์ โดยเน้นสหการนิยมที่ให้ความสำคัญกับการร่วมมือกันระหว่างนายทุนกับแรงงานโดยผ่านการบังคับโดยรัฐ ซึ่งในทางเดียวกันนั้นก็จะเป็นผลทำให้ปัจจัยการผลิตอยู่ในมือของ “สังคม” ผ่านรัฐ และ ไม่ได้ผ่านทรัพย์สินส่วนบุคคล — ฐานของตลาดเสรีทุนนิยม — ที่มากไปกว่านั้นที่ไม่ได้กล่าวถึงคือประเทศเหล่านี้ไม่ได้มีการแบ่งงาน (division of labor) เหมือนที่ตลาดเสรีทุนนิยมมี เพราะทุกคนที่ร่วมมือกันได้ถูกบังคับให้ทำงานโดยมองข้ามเรื่องความสามารถ, ความต้องการที่จะเข้าร่วม และ ความรู้ในการทำงานอย่างใดอย่างหนึ่งไปอย่างสิ้นเชิง เป็นผลทำให้เกิดความเท่าเทียมในการทำงาน และ การได้รับค่าจ้าง (wage) ผ่านการบังคับคล้าย ๆ กับระบบเศรษฐกิจในสังคมนิยมแบบมาร์กซิส ต่างกันในตลาดเสรีทุนนิยมในเรื่องของค่าจ้าง นายจ้างสามารถเสนอค่าจ้างที่แตกต่างกันไปตามมูลค่าของงาน และ ลูกจ้างที่สามารถเลือกได้ว่าจะเข้าทำงานอะไร ยังไง และ ที่ไหน เพื่อตอบสนองความต้องการตนเอง — ความสำคัญของการแบ่งงานของตลาดเสรีทุนนิยมนั่นเอง
*ในบทความนี้ไม่ได้กล่าวถึงประเทศฟาสซิสต์ หรือกลุ่มทางที่สาม (Third Position) ในประเทศอื่น ๆ — กลุ่มการปกครองจักรวรรติ (Taisei Yokusankai) ในจักรวรรดิญี่ปุ่นไม่ได้มีความคล้ายคลึงกับฟาสซิสต์เลยแม้แต่น้อย เนื่องจาก 1.) กลุ่มนี้มีอุดมการณ์หลายอย่างมารวมกัน 2.) ความเป็นจักรวรรดินิยมของญี่ปุ่นไม่ได้มีความคล้ายคลึงกับความคลั่งชาติของฟาสซิสต์ในประเทศอื่น ๆ — จักรวรรดิญี่ปุ่นค่อนข้างมีความเฉพาะ และ แตกต่างจากความรักชาติในประเทศยุโรปตรงที่เป็นความรักชาติที่ผสมโรงระหว่างศาสนาชินโตกับรัฐนิยมผ่านวัฒนธรรมเฉพาะของสังคมคนญี่ปุ่น
*เช่นกันกับในแอฟริกาใต้ที่กลุ่ม Ossewabrandwag กับ Afrikaner Weerstandsbeweging สนับสนุนนาซีเยอรมันในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 แต่ความแตกต่างของชาวแอฟริกาเนอร์ (Afrikaners/Boers) ค่อนข้างมีความเฉพาะแตกต่างจากฟาสซิสต์ในยุโรป — รวมไปถึงกลุ่มคล้าย ๆ กันในเอเชีย, อเมริกาใต้ และ อเมริกากลางด้วย
Bibliography
Beichman, Arnold. The Surprising Roots of Fascism. Stanford, CA: Hoover Institution at Stanford University, 2000.
DiLorenzo, Thomas J. Economic Fascism. Atlanta, GA: Foundation for Economic Education, 1994.
Gindler, Allen. Fascism Has Always Been An Enemy of Private Property. Auburn, AL: Mises Institute, 2019.
Martinez-Alier, J., Jordi Roca. Spain after Franco: From Corporatist Ideology to Corporatist Reality. United Kingdom: Routledge International Journal of Political Economy, 1988.
Morton, Sterling. A Spanish Entrepreneur vs. The State. Auburn, AL: Mises Institute, 2005.
Powell, Jim. The Economic Leadership Secrets of Benito Mussolini. Washington, D.C: Cato institute, 2012.
Richman, Sheldon. Fascism. Carmel, IN: Econlib at Liberty Fund. https://www.econlib.org/library/Enc/Fascism.html.
Samuels, Lawrence K. The Socialist Economics of Italian Fascism. Carmel, IN: Econlib at Liberty Fund. https://www.econlib.org/…/Col…/y2015/Samuelsfascism.html.